Article Detail Page Background

สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงฯ ผู้ทรงนำความงดงามของผ้าไทยให้เป็นที่รู้จัก

10 สิงหาคม 2565

ครั้ง พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเยี่ยมราษฎรทั่วทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้โดยเสด็จฯ ด้วยเสมอและได้ทรงเห็นความยากลำบากของประชาชนชาวไทย ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมที่มีรายได้ไม่แน่นอน จึงมีพระราชดำริที่จะให้ราษฎรมีอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้และทรงเล็งเห็นถึงการทอผ้าเป็นสำคัญเพราะเสื้อผ้าถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตและยังเป็นงานฝีมือพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยจากภูมิปัญญาและวัตถุดิบท้องถิ่น จึงโปรดเกล้าฯ ให้ส่งเสริมการทอผ้าไหมพื้นเมืองทุกชนิดทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ผ้าไหมแพรวา ผ้ามัดหมี่ จากภาคอีสาน  ผ้าไหมยกดอกลำพูน ผ้าชาวเขาของภาคเหนือ  ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าย้อมครามจากภาคกลาง และ ผ้ายกนครของภาคใต้  

ภายหลังพระองค์ทรงมีพระราชดำริให้ก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถขึ้นเมื่อ วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพและยังเป็นการอนุรักษ์ส่งเสริมงานหัตถกรรมพื้นบ้านหลากหลายแขนง พร้อมจัดสรรผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้ คำแนะนำเพื่อเพิ่มมูลค่าของผ้าจนเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวอีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะภาคอีสาน ที่มุ่งส่งเสริมให้มีการฝึกอบรม การทอผ้าไหมมัดหมี่ เพื่อรักษาศิลปวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น

กลุ่มอาชีพสตรีทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพน จังหวัดกาฬสินธุ์ โดดเด่นด้วยการทอผ้าไหมแพรวาแบบฉบับชาวผู้ไทย มีกรรมวิธีการสร้างลวดลายด้วยการทอขิดและการทอด้วยการจกเส้นไหม เกิดเป็นสีสันและลวดลายรูปแบบต่าง ๆ นิยมทอด้วยไหมทั้งผืน การทอผ้าแพรวาถือเป็นภูมิปัญญาชั้นสูงและได้รับการยกย่องว่าเป็น “ราชินีแห่งไหม” สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถฯ สนพระทัยมากจึงโปรดเกล้าฯ  ให้พัฒนาจากเดิมซึ่งมีสีเฉพาะสีแดงเข้มให้มีสีพื้นหลากหลาย และลายดอกสลับสอดสีไหมให้กลมกลืนสวยงาม  เหมาะแก่การนำไปตัดเป็นชุดสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษมากขึ้น จนเกิดเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้แก่ชาวบ้าน 
 

กลุ่มสตรีทอผ้าไหมตำบลสวาย จังหวัดสุรินทร์ เป็นอีกจังหวัดหนึ่งในภาคอีสานใต้ที่มีวัฒนธรรมการทอผ้ามานาน มีเอกลักษณ์เด่นเฉพาะในเรื่องผ้าไหมมีกรรมวิธีการทอที่สลับซับซ้อนซึ่งต้องใช้ความสามารถและอาศัยทักษะความชำนาญ เช่น การทอผ้ามัดหมี่พร้อมยกดอกไปในตัว ทำให้ผ้าไหมที่ได้เป็นผ้าเนื้อแน่น ซึ่งมีการทอที่เดียวในประเทศไทย จนเป็นที่สนพระทัยและทรงโปรดของสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ จนได้เป็น OTOP ระดับ 5 ดาวและได้รับ “ตรานกยูงพระราชทาน” จากกรมหม่อนไหมเพื่อการันตีคุณภาพ จากการทอผ้าซึ่งเคยเป็นอาชีพเสริมจนกลายเป็นอาชีพหลักหาเลี้ยงครอบครัวในปัจจุบัน

นอกเหนือจากทรงเป็นผู้ส่งเสริมฟื้นฟูและอนุรักษ์งานหัตถกรรมพื้นบ้านยังทรงเป็นผู้นำผ้าไทยออกสู่สายตาชาวโลก  ด้วยการแนะนำให้ปรับการทอให้มีขนาดที่เป็นมาตรฐาน รวมทั้งการให้ความรู้เทคนิคการทอผ้าใหม่ๆ และโปรดเกล้าฯ ให้นักออกแบบระดับโลกรวมถึงดีไซเนอร์ไทยออกแบบและตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์สวมใส่ในทุกวาระโอกาสทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ จนได้รับการยกย่องให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้เป็นหนึ่งใน Hall of Fame บุคคลที่แต่งตัวดีที่สุดตลอดกาลของโลก

เนื่องในวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม 2565 ททท. ร่วมกับ สถาบันสิริกิติ์ จัดงานมหัศจรรย์งานศิลป์แผ่นดินไทย (Miracle of the Arts of the Kingdom) เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา ปี 2565 ในวันที่ 12-14, 20-21 และ  27-28 สิงหาคม 2565 เวลา 10.00-19.00 น. ณ พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน ต.เกาะเกิด อ. บางปะอิน  จ.พระนครศรีอยุธยา 

โดยในวันที่ 12 สิงหาคม 2565 ผู้เข้าร่วมงานสามารถเข้าชมภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน และอาคารเรียน-รู้-เรื่องโขน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และในวันที่ 13–14, 20-21 และ 27-28 สิงหาคม 2565 สามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์ฯ โดยมีวิทยากรนำชม แบ่งเป็น 3 รอบเวลา ได้แก่ เวลา 10.30 น. / 13.30 น. / 14.30 น. โดยมีค่าบัตรเข้าชม คนละ 150 บาท และค่าบัตรเข้าชมภายในอาคารเรียน-รู้-เรื่องโขน คนล150 บาท

ภาพบทความ

ข่าวล่าสุด

ททท. เชิญทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวร่วมระดมความเห็นในการประชุม “เที่ยวทั่วไทย ปลอดภัยทุกที่” ส่งเสริมภาพลักษณ์ให้เมืองไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอย่างยั่งยืน
ททท.อีสาน จับมือ กลุ่มบริษัทดัชมิลล์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพริมน้าโขง  จัดกิจกรรม วิ่ง “เลย” มั้ย ต้อนรับก่อนเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวเมืองเชียงคาน จังหวัดเลย